Thursday, October 31, 2019
จุดเสี่ยงหลังคารั่ว รีบซ่อมก่อนฝนตก ป้องกันน้ำไหลซึมเพดานและผนัง
มาดูจุดเสี่ยงที่มักเกิดรอยรั่วบนหลังคา เกิดจากสาเหตุอะไร และมีวิธีแก้ไขอย่างไรบ้าง มาดู จุดเสี่ยงหลังคารั่ว ที่ควรซ่อมแซมก่อนน้ำรั่วซึมเข้าผนังและเพดาน
รอยรั่วบนหลังคา ต้นเหตุอาจจะเกิดจากรูเล็ก ๆ แต่ทว่ากลับสร้างปัญหามากมาย เพราะหากมีน้ำฝนรั่วเข้ามาในบ้าน ไม่ได้ทำให้ข้าวของเสียหายอย่างเดียว แต่น้ำฝนที่ซึมไปตามฝ้าเพดานและผนังยังทำให้เกิดความชื้นและมีเชื้อรา ตามมาด้วยเหล่าแมลงและสัตว์น้อยใหญ่เข้ามาทำรัง อีกทั้งยังส่งผลถึงโครงสร้างบ้านอีกต่างหาก ฉะนั้นก่อนที่อะไร ๆ ในบ้านจะเสียหายไปมากกว่านี้มาดูกันว่ามีส่วนไหนที่มักจะเกิดรอยรั่ว สังเกตอย่างไร และจะแก้ไขอย่างไรกันค่ะ
1. อุปกรณ์ยึดหลังคาเสื่อมสภาพ
หากเริ่มสังเกตเห็นแสงลอดลงมาจากรูเล็ก ๆ บนหลังคาหรือมีคราบน้ำซึมเป็นทางหลังฝนตกละก็ เป็นไปได้ว่ามีรอยรั่วบริเวณสกรูยึดหลังคา ซึ่งเกิดจาก 2 สาเหตุด้วยกันคือ หัวสกรูไม่ได้ถูกซ่อนไว้ในหลังคาหรือแหวนยางรองเสื่อมสภาพ เลยทำให้เกิดช่องว่างเล็ก ๆ ที่ทำให้น้ำฝนไหลซึมเข้ามาตามหลังได้ ซึ่งวิธีแก้ไขสำหรับปัญหานี้ก็ไม่ยาก ทำได้โดยการเปลี่ยนเซตสกรูใหม่ที่มีแหวนรองยาง แล้วทาวัสดุกันซึมเสริมกันน้ำอีกชั้น แต่ทั้งนี้ควรระมัดระวังในการเปลี่ยนสักนิด เพราะหากยิงสกรูแรงเกินไปก็อาจทำให้แหวนยางรองขาดหรือวัสดุมุงหลังคาแตกได้
2. กระเบื้องหลังคามีรอยร้าว
วิธีสังเกตรอยรั่วคล้าย ๆ กับปัญหาแรก แต่แตกต่างกันตรงที่หากมีรอยรั่วตรงสกรูจะเห็นแสงเป็นจุดเล็ก ๆ ในขณะที่หากกระเบื้องหลังคามีรอยร้าว จะเห็นช่องแสงเป็นทางยาวตามรอยแตก ซึ่งสาเหตุนั้นก็เกิดจากมีสิ่งของตกลงมากระแทก การเจาะกระเบื้องแรงเกินไป มุงหลังคาไม่สลับแนว หรือระยะทับซ้อนของกระเบื้องไม่เหมาะสม ทั้งนี้หากจะเปลี่ยนกระเบื้องใหม่ควรใช้กระเบื้องรุ่นเดิมเพื่อให้เข้ากับแนวลอนหลังคาเก่า หรือซ่อมแซมด้วยอะคลิลิกกันซึมทาปิดบริเวณที่มีรอยแตก
3. มีรูรั่วที่สันครอบหลังคา
ถือเป็นบริเวณที่สังเกตเห็นได้ยาก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ภายนอก กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ตอนมีน้ำรั่วเข้ามาในบ้าน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้บริเวณนี้มีปัญหา ได้แก่ ติดตั้งสันครอบหลังคาผิดวิธี ทำให้เกิดช่องโหว่ระหว่างที่ครอบกับหลังคา วางแนวกระเบื้องตรงรอยต่อห่างกันเกินไป หรือมีรอยร้าวที่ปูนปั้นใต้สันครอบหลังคา ถ้าไม่อยากเสียเวลารื้อสันครอบหลังคาแล้วติดตั้งใหม่ ให้ปิดรอยแตกด้วยปูนและทาวัสดุกันซึม เช่น น้ำยาอะคริลิกเพื่อป้องกันน้ำไว้อีกชั้น แต่ถ้าหากมีปัญหาที่ปูนปั้นให้สกัดปูนเก่าออกแล้วฉาบปูนใหม่เข้าไป
4. รอยต่อส่วนต่อเติมมีปัญหา
สำหรับบ้านที่มีการต่อเติมโครงสร้างออกไป อย่างเช่น ห้องครัวหลังบ้านหรือโรงรถ มักจะมีรอยรั่วระหว่างหลังคากับผนังตรงส่วนที่เรียกว่า ปีกคลส. หรือปีกคอนกรีตเสริมเหล็ก มีรอยร้าวหรือไม่ประสานกับผนังบ้าน ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุก็คือต่อเติมแบบไม่ใช้ปีกคลส. เลยทำให้เกิดช่องว่างและฝนตกรั่วลงมา ทั้งนี้สามารถแก้ไขโดยใช้วัสดุกันซึมทาปิดรอยรั่วระหว่างส่วนต่อเติมกับผนังบ้าน ก็จะช่วยป้องกันบ้านช่วงหน้าฝนได้อีกทางหนึ่ง
5. โครงสร้างผุหลังคาแอ่น
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดรอยรั่วบนหลังคาก็คือ หากสังเกตุเห็นหลังคาเริ่มผิดรูป ก็เป็นไปได้ว่าโครงสร้างหลังคาเริ่มเสื่อมสภาพเนื่องจากผ่านการใช้งานมาหลายปี รวมถึงสาเหตุอื่น ๆ เช่น โครงเหล็กเป็นสนิมจนผุ หรือแมลงกินโครงไม้จนทรุด ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักหลังคาไม่ไหวจนเริ่มเสียทรงและเกิดช่องว่างระหว่างรอยต่อของกระเบื้องมุงหลังคา แต่เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง ซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ยาก ดังนั้นจึงควรปรึกษากับวิศกร เพื่อแก้ไขได้ตรงจุด
หลังคารั่ว อาจจะเกิดรูเล็ก ๆ แต่ก็สร้างปัญหาใหญ่ได้ เพราะอย่างที่บอกไปว่าเมื่อน้ำฝนไหลซึมเข้าบ้านนั้น ไม่ได้ทำให้บ้านสกปรกอย่างเดียว แต่ยังทำให้ของในบ้านเสียหาย และอาจจะเกิดเชื้อราตามมาอีกต่างหาก เพราะฉะนั้นหากรู้แล้วว่ามีจุดเสี่ยงตรงไหนบ้าง ก็อย่าลืมซ่อมแซมกันนะคะ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment